วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

05 Framework Management Tool Box ด้าน Planning : Industry Analysis

Framework  Management  Tool  Box ด้าน Planning : Industry Analysis
หลักการ / แนวคิด / ประวัติความเป็นมา
เป็นการวิเคราะห์ภาวะของอุตสาหกรรมของบริษัทที่สนใจลงทุน ว่ามีลักษณะและแนวโน้มที่ดีหรือไม่ โดยพิจารณาจากอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม (Growth) ช่วงวงจรชีวิตของอุตสาหกรรม (Industry Life Cycle) รวมถึงภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม (Competition) และคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในอนาคต (Trend)เพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

เครื่องมือนี้คืออะไร / มีอะไรเป็นองค์ประกอบ
1) ความสัมพันธ์กับวัฎจักรธุรกิจ (Sensitivity to the Business cycle) การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจระหว่างรุ่งเรืองกับชะลอตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระดับที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกประเภทอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
        1.1 อุตสาหกรรมที่เติบโตสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ
        1.2 อุตสาหกรรมที่เติบโตในระดับเดียวกับเศรษฐกิจ
        1.3 อุตสาหกรรมที่ไม่ตกต่ำตามเศรษฐกิจ
        ปัจจัยที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรม มีความสัมพันธ์กับวัฎจักรธุรกิจมากเพียงไร คือ ยอดขายของสินค้าหรือบริการ เช่น ยอดขายของอุตสาหกรรมประเภทอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา หรือบริการด้านการแพทย์ มีความสัมพันธ์กับวัฏจักรธุรกิจต่ำ เนื่องจากอาหาร ยา การแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร การบริโภคก็ยังคงมีความจำเป็นเพื่อดำรงชีวิตอยู่ ในขณะที่ยอดขายของอุตสาหกรรมประเภทก่อสร้าง ยานยนต์ การขนส่ง มีความสัมพันธ์กับวัฏจักรธุรกิจสูง เนื่องจากปริมาณการบริโภคในสินค้าหรือบริการเหล่านี้ อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากต้นทุนการดำเนินการ และต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เงินกู้สูง จะได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมาก ผู้ลงทุนควรกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุน โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์กับวัฏจักรธุรกิจด้วย เช่น ถ้าขณะนั้น เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ผู้ลงทุนควรเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ตกต่ำตามเศรษฐกิจ เป็นต้น
2) วงจรชีวิตอุตสาหกรรม (Industry Life Cycle) เป็นรูปแบบขั้นตอนการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น คือ
        (1) ขั้นบุกเบิก (Start-up) มีผู้ผลิตน้อยราย ยอดขายเติบโตช้า ผลิตภัณฑ์ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ กำไรต่ำหรือขาดทุน และอัตราการล้มเหลวของกิจการสูง
        (2) ขั้นเจริญเติบโต (Consolidation) ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของตลาด ยอดขายเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เริ่มมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด แต่การแข่งขันอาจยังไม่รุนแรง ทำให้กำไรมีโน้มเอียงสูงขึ้น
        (3) ขั้นเติบโตเต็มที่ (Maturity) ยอดขายเพิ่มในอัตราที่ลดลง ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเข้ามาแข่งขัน ทำให้การแข่งขันเริ่มรุนแรง กำไรมีแนวโน้มลดลง
        (4) ขั้นถดถอย (Declination) ยอดขายลดลง ผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาทดแทน อัตรากำไรลดลง เริ่มมีบางกิจการถอนตัวออกไปจากตลาด
       การเลือกอุตสาหกรรมที่จะลงทุน สิ่งสำคัญจะต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมนั้นอยู่ในช่วงใดของวงจรชีวิต เพื่อที่จะได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ลงทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ลงทุนบางท่านอาจสนใจธุรกิจที่อยู่ในขั้นบุกเบิก หรือธุรกิจที่อยู่ในขั้นเจริญเติบโต เพราะมองว่ามีแนวโน้มที่ดีในการเติบโตต่อไป ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือ หวังว่าผลตอบแทนที่ได้น่าจะสูง แต่ทั้งนี้ ก็ควรตระหนักด้วยว่าความเสี่ยงก็อาจสูงด้วย แต่สำหรับผู้ลงทุนที่มองว่าธุรกิจในขั้นเติบโตเต็มที่นั้น น่าสนใจกว่าก็อาจมองว่า ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และเห็นว่าธุรกิจที่อยู่ในขั้นนี้ ไม่ต้องการเงินทุนไปขยายกิจการเท่าไรนัก ก็อาจมีโอกาสจะได้รับเงินปันผล เป็นต้น
3) ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม แต่ละอุตสาหกรรมย่อมมีภาวะการแข่งขันที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีผลต่อการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันไปด้วยปัจจัยหลักเพื่อการพิจารณามี 5 ข้อคือ
        (1) การแข่งขันระหว่างคู่แข่งขันที่มีอยู่ในปัจจุบัน : ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง บริษัทอาจจะดำเนินธุรกิจได้ลำบาก แต่ในขณะเดียวกันอาจมองได้ว่า บริษัทที่ยังอยู่รอดในอุตสาหกรรมนั้น ย่อมหมายถึงบริษัทนั้นมีความแข็งแกร่งเพียงพอ
        (2) การเข้ามาของคู่แข่งใหม่ : หากคู่แข่งเข้ามาได้ยาก แสดงว่าแนวโน้มที่บริษัทจะทำธุรกิจได้กำไรดีก็จะมีสูง
        (3) สินค้าทดแทน : หากสินค้าทดแทนในตลาดมีมาก ก็อาจจะทำให้บริษัทดำเนินการได้ลำบากขึ้น
        (4) อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ : ถ้าผู้ซื้อมีอำนาจมาก นั่นหมายถึงผู้ซื้อสามารถที่จะต่อรองราคาให้ต่ำลงก็อาจทำให้ยากต่อการขายสินค้าและอาจทำให้ได้กำไรต่ำกว่าที่คาดหมายไว้
        (5) อำนาจการต่อรองของบริษัทผู้ขายวัตถุดิบ : ถ้าบริษัทมีอำนาจต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบน้อย ย่อมทำให้การทำธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะจะทำให้ราคาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรที่ได้ลดต่ำลง


หมายเหตุ ข้อมูลนี้เป็นเพียงบางส่วน ผู้ศึกษาควรค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และข้อมูลนี้จัดทำไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น